การผ่าตัด (Surgical Oncology)

การผ่าตัด (Surgical Oncology)

การผ่าตัด (Surgical Oncology) เป็นวิธีการรักษามะเร็งวิธีมาตรฐาน มีหลักการคือผ่านำก้อนเนื้อมะเร็งออก ซึ่งหลังจากผ่าตัดแล้ว จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยระยะและชนิดของมะเร็งได้ โดยมักนำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนัง มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งถุงน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งหู คอ จมูก เป็นต้น

มะเร็งต่างชนิด มีวิธีรักษาแตกต่างกัน

มะเร็งแต่ละชนิด มีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เช่น บางกรณีแพทย์อาจพิจารณารักษามะเร็งด้วยการฉายแสงหรือให้ยาเคมีบำบัดก่อนหรือหลังการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค ยกตัวอย่างเช่น

มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อย การผ่าตัดมะเร็งลำไส้มีหลายประเภท ศัลยแพทย์จะพิจารณาจากระยะและตำแหน่ง เช่น การตัดติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ (Polypectomy) ใช้สำหรับรักษามะเร็งระยะที่ 0 แต่หากติ่งเนื้อมีขนาดใหญ่่ อาจจำเป็นต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างออกไป คือ Endoscopic mucosal resection: EMR และ Endoscopic submucosa resection: ESR เทคนิคการผ่าตัดนี้ถือเป็นการผ่าตัดขั้นสูงและเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่อาจเข้ารับการผ่าตัดแบบทั่วไปได้

หากผู้ป่วยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามนั้น อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่เป็นโรคและต่อมน้ำเหลืองออกไป และถ้าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย อาจจำเป็นต้องทำทวารเทียมโดยนำปลายลำไส้ส่วนที่เหลืออยู่เปิดออกทางหน้าท้องให้เป็นทางออกอุจจาระ

มะเร็งเต้านม

การผ่าตัดก้อนเนื้องอกเต้านมมีสองประเภทหลัก ๆ ได้แก่ 1.การผ่าตัดแบบสงวนเต้า คือการผ่าตัดเอาเฉพาะก้อนเนื้อออก และ 2. การผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า ซึ่งแพทย์จำเป็นจะต้องประเมินและวินิจฉัยก่อนรักษามะเร็งเต้านมแต่ละระยะ

มะเร็งปากมดลูก

การรักษามะเร็งปากมดลูก จะรักษาตามระยะของโรค ซึ่งมีวิธีที่หลากหลาย ดังนี้

  • สำหรับผู้ป่วยที่ยังต้องการมีบุตรและโรคมะเร็งอยู่ในระยะเริ่มต้น สามารถพิจารณาตัดเฉพาะปากมดลูกและเนื้อเยื่อโดยรอบปากมดลูก ร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (Radical trachelectomy)
  • ในกรณีที่ไม่ต้องการมีบุตรและโรคมะเร็งอยู่ในระยะเริ่มต้น การรักษาที่เป็นมาตรฐานของมะเร็งปากมดลูก คือการตัดมดลูกและปากมดลูก รวมถึงเนื้อเยื่อข้างเคียงปากมดลูก และเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน (Radical hysterectomy with lymph node dissection) ส่วนการจะตัดรังไข่หรือไม่ ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วย, ปัจจัยเสี่ยงของโรค, และระยะของมะเร็ง
  • ในกรณีที่เป็นมะเร็งปากมดลูกระยะ 2ขึ้นไป การรักษาคือการฉายแสงและให้ยาเคมีบำบัดควบคู่กันไป

มะเร็งปอด

ในผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะเริ่มต้น แพทย์อาจพิจารณาใช้วิธีการผ่าตัดรักษา ซึ่งมีหลายประเภท ได้แก่

  • การตัดปอดทั้งข้าง (Pneumonectomy) คือการนำปอดที่เป็นมะเร็งออกทั้งข้างที่มีอาการข้างเคียงเยอะ
  • การตัดกลีบปอดและส่วนของหลอดลมร่วมออกด้วย (Sleeve lobectomy) โดยตัดกลีบปอดส่วนที่มีมะเร็งและนำหลอดลมที่เชื่อมกับส่วนนั้นออก ร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด จากนั้นจึงสร้างทางเชื่อมใหม่กับปอดส่วนที่เหลือ หรือตัดกลีบปอดส่วนที่เป็นมะเร็งออกอย่างเดียว (Lobectomy) ซึ่งเป็นการผ่าตัดปอดที่เป็นมาตรฐาน สามารถสงวนสมรรถภาพปอดได้ดี
  • การตัดเป็นรูปลิ่ม (Wedge Resection) คือการผ่าตัดเนื้องอกและเนื้อเยื่อรอบ ๆ ออกมาเป็นรูปร่างคล้ายลิ่ม เหมาะสำหรับการผ่าตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปวินิจฉัย (Biopsy) หรือเป็นการผ่าตัดมะเร็งชนิดอื่นที่กระจายมาที่เนื้อปอด

ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในด้านการผ่าตัดมะเร็ง

การผ่าตัดรักษามะเร็งและวิธีรักษาทางเลือกในปัจจุบันมีความก้าวหน้าอย่างมาก เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่ดีและเกิดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดน้อยลง

การผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งระยะแพร่กระจายในช่องท้อง (Hyperthermic intraperitoneal chemotherapy – Cytoreductive surgery) ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน เริ่มด้วยการผ่าตัดช่องท้องเพื่อนำเนื้องอกระยะแพร่กระจายออกมาให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเห็นด้วยตาเปล่า หรือเหลือเนื้องอกขนาดเล็กไม่เกินจุดละ 2.5 มิลลิเมตร จากนั้นจึงให้ยาเคมีบำบัดในช่องท้องร่วมกับเพิ่มอุณหภูมิสูง 42.5 องศาเซลเซียส เพื่อให้ยาแทรกซึมเข้าเนื้อเยื่อ และกำจัดเซลล์มะเร็งขนาดเล็ก โดยวิธีการนี้ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปีค.ศ.1980 ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรักษามะเร็งที่แพร่กระจายออกไปยังเยื่อบุช่องท้อง ซึ่งยาเคมีบำบัดทางเส้นเลือดไปไม่ค่อยถึง วิธีการนี้จะทำให้ผู้ป่วยได้รับปริมาณยาที่เข้นข้นและตรงจุดมากกว่า โดยโรคมะเร็งระยะที่แพร่กระจายในช่องท้องที่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ได้แก่ มะเร็งของไส้ติ่ง, มะเร็งรังไข่, มะเร็งลำไส้ใหญ่, มะเร็งกระเพาะอาหาร, Psuedomyxoma peritonei, และ Peritoneal mesothelioma

นอกจากนี้ ในด้านเทคนิคการผ่าตัดมะเร็ง การผ่าตัดแบบแผลเล็กจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อยลง ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ปัจจุบันมีการนำมาใช้การการผ่าตัดมะเร็งหลายประเภท เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับ

ส่วนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เริ่มมีการนำมาใช้เพื่อรักษามะเร็งมากขึ้น เช่น มะเร็งตับ มะเร็งทางเดินน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งโคนลิ้น โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดให้มีความแม่นยำมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจและช่วยผู้ป่วยมะเร็งฟื้นตัวหลังผ่าตัดได้เร็ว

ที่ตั้งและการเดินทาง​ ที่ตั้งและการเดินทาง​

 

วิธีการเดินทาง

ค้นหาเราบนแผนที่
 

การติดต่อและนัดหมาย​

[email protected]
 

บริการฉุกเฉิน​

เบอร์โทรติดต่อ : 02-734-0000