คำแนะนำด้านโภชนาการ
ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งด้วยอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
“มะเร็ง” เป็นโรคที่มีปัจจัยเสี่ยงที่หลากหลายแตกต่างกัน มีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมและปรับเปลี่ยนไม่ได้อย่างเช่นพันธุกรรม และปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมและปรับเปลี่ยนได้เพื่อลดโอกาสเกิดโรคมะเร็ง ซึ่งการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการลดอัตราการเกิดโรคมะเร็งได้ 10 – 25 % โดยเฉลี่ย และยังช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันมะเร็ง รวมถึงช่วยรักษาค่าดัชนีมวลกายให้อยู่ในระดับปกติ
โดยทั่วไป การรับประทานอาหารขยะ เช่น อาหารประเภทแคลอรี่สูง อาหารแปรรูป อาหารที่มีเนื้อแดงและอาหารกระป๋องที่มีโซเดียมสูง อาจส่งผลให้ค่าดัชนีมวลกายสูงเกินเกณฑ์ นำไปสู่การเป็นโรคอ้วนซึ่งโรคนี้ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย จนอาจลุกลามเป็นมะเร็งได้ นอกจากนี้ยังพบว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งช่องปาก มะเร็งคอหอยและกล่องเสียง มะเร็งหลอดอาหาร และมะเร็งตับได้
มีวิธีการปรับเปลี่ยนการรับประทานเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งหลากหลายวิธี เช่น การรับประทานอาหารสายรุ้งหรือ Rainbow Diet ซึ่งเป็นการเน้นผักและผลไม้ 7 สี เช่น หน่อไม้ฝรั่ง บลูเบอร์รี่ บล็อคโคลี่ แครอท ส้มโอ และคะน้า, อาหารเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเป็นการเน้นคารโบไฮเดรตเชิงซ้อนหรือธัญพืชไม่ขัดสี เช่น เมล็ดแฟลกซ์ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ พืชตระกูลถั่ว และถั่ว รวมทั้งโปรตีนไขมันต่ำ เช่นไข่ต้ม ปลาเนื้อขาว เต้าหู้ โยเกิร์ตเปล่าๆ และเนื้อวัวไม่ติดมัน ทั้งนี้ ควรรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในรูปที่หลากหลายด้วย
นอกจากอาหารในมื้อปกติแล้ว อาหารเสริมหรือวิตามินอาจช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็งได้ เนื่องจากสารต้านมะเร็งบางชนิดอาจหาได้ยากในอาหาร เช่น อาหารเสริมวิตามินดี มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมากได้
การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แม้จะไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งได้โดยตรง แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งรวมถึงโรคเรื้อรังอื่น ๆ ด้วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาจเป็นเรื่องยากสำหรับหลาย ๆ คน เพราะฉะนั้น แนะนำให้เริ่มอย่างช้า ๆ แต่เน้นความสม่ำเสมอจะเป็นผลดีมากที่สุด
เบอร์โทรติดต่อ
Hi! How can we help you?